ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

sombat prajonsant

ไหมมัดหมี่ลายพร่าเลือน

ผ้ามัดหมี่แบบเดิมส่วนใหญ่ใช้การมัดลายและย้อมสีให้เห็นลวดลายอย่างชัดเจน หากได้ลายมัดหมี่ไม่คมชัดจะถือว่าเป็นตำหนิของผ้าผืนนั้น แต่นักออกแบบเห็นว่าความงามแบบพร่าเลือนเป็นเป็นความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างจากความคมชัด เป็นเทคนิคใหม่ที่น่าสนใจต่อการสร้างสรรค์งานผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ จึงได้กำหนดแนวคิดในการออกแบบจากการถอดความหมายของคำว่าพร่าเลือนที่ถูกใช้ในแวดวงสาขาวิชาสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมและวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากนั้นออกแบบลายมัดหมี่ลายใหม่ผนวกกับออกแบบเทคนิคการผลิตในขั้นตอนการค้นหมี่ การมัดหมี่ การย้อมสี และการทอ พบว่าสามารถสร้างลายพร่าเลือนแบบผสมผสานจากเทคนิค SADORI ได้แก่ แบบกระจัดกระจาย แบบความคลุมเครือ แบบการทำให้เสียหาย แบบทับซ้อน แบบทับซ้ำ และแบบการแทรกแซง และสามารถนำแต่ละเทคนิคสู่การออกแบบและผลิตผสมผสานกันได้ งานมัดหมี่ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญของการสร้างลวดลายให้กับผ้าทอมือในหลายทวีปทั่วโลก ลายมัดหมี่ดั้งเดิมมีทั้งลายรูปเรขาคณิต รูปสัตว์ พืช สิ่งของ หรือลายที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับผลงานนี้ ได้แรงบันดาลใจลวดลายมัดหมี่ดั้งเดิมนำมาดัดแปลงคือลายใบมะพร้าวกับลายแมงกะบี้ ซึ่งเป็นภาษาอีสานหมายถึงผีเสื้อ สื่อสารถึงความเป็นโลกตะวันออกแถบเขตร้อนชื้น และลายที่ออกแบบขึ้นใหม่คือลายเถากุหลาบ สื่อสารแทนความเป็นโลกตะวันตก ในโชว์เคสครั้งนี้ผลงานมัดหมี่ลายพราเลือน ใช้เทคนิคการสร้างลายแบบพร่าเลือนนี้ กระบวนการ เทคนิคการสร้างลวดลายพร่าเลือน ลักษณะเทคนิคมัดหมี่ลายซ้อน SADORI Technique ศัพท์เทคนิคการสร้างลายพร่าเลือนโดยคิดค้นจากงานวิจัยโครงการเทคนิคการสร้างลายแบบพร่าเลือนในงานไหมมัดหมี่ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ความหมาย เทียบคำศัพท์ภาษาไทยลาว (ซะซาย ลาย ม้าง ซ่อน ซ่ำ แซม) และภาษาไทยเขมร (อะระอะราย มันเจี๊ยะ ปะโด เจือน ตี๊ด จะนี๊ด) เพื่อให้ในการสื่อสารกับช่างฝีมือในกลุ่มผู้ผลิตผ้าทอในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว และไทยเขมร หรือเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อสร้างเสน่ห์ของคำ ในกระบวนการทอจำเป็นต้องอาศัยลายมัดหมี่อย่างน้อย 2 ลายมาทอสลับกัน รูปแบบของลายหมี่จึงต้องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงเกิดผลลัพธ์ของภาพซ้อนที่ชัดเจน ทำให้ผู้ออกแบบทำการออกแบบลายลายใบมะพร้าว ลายแมงกะบี้ และลายเถากุหลาบ เมื่อมีการทอสลับกันระหว่างลายที่ 1 กับลายที่ 2 ลายที่ 2 กับลายที่ 3 และลายที่ 3 กับลายที่ 1 จึงเกิดการผสานกันของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก สำหรับผืนอื่นๆ ผืนที่ 3 ใช้เทคนิคการสร้างลายพร่าเลือนแบบการแทรกแซง ออกแบบลายมัดหมี่เป็นลายเถากุหลาบทอแทรกด้วยเส้นไหมสีพื้น ตลอดผืน ผืนที่ 4 ใช้เทคนิคการสร้างลายพร่าเลือนแบบการแทรกแซง ออกแบบลายมัดหมี่เป็นลายเถากุหลาบ เชิงผ้าออกแบบเป็นลายแมงกะบี้โดยการทอแทรกเส้นไหมสีพื้น ผืนที่ 5 ใช้เทคนิคการสร้างลายพร่าเลือนแบบการแทรกแซง ออกแบบลายมัดหมี่เป็นลายเถากุหลาบทอสลับกับลายแมงกะบี้เป็นแถบแนวนอนสลับกัน ตลอดผืน ในการเลือกใช้วัสดุเส้นไหม ใช้เส้นไหมเปลือกนอกที่มีเส้นฟู เมื่อใช้การทอยกดอก 5 ตะกอลายลูกแก้วทำให้เกิดผิวสัมผัส (Texture) ลายที่เกิดจากการทอนี้ยังทับซ้อนกับลายหมี่สร้างความน่าสนใจเพิ่มขึ้นกว่าการทอแบบ 2 ตะกอ